Asperger's Disorder
ก่อนอื่นคงต้องขออภัุยที่ห่างหายไปจากการเขียนบล็อกเป็นระยะเวลาหนึ่ง วันนี้มีโอกาสว่างๆ และมีกระเเสสังคม เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา เกี่ยวกับรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ในที่นี้ผู้เขียนขอไม่เอ๋ยนาม และไม่ขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำเสนอใดๆ และขอนำเสนอเกี่ยวกับการให้ความรู้ และ การทำให้ผู้อ่านได้รู้จัก และเข้าใจ ถึง กลุ่มบุคคลซึ่งถือได้ว่ามีความบกพร่องทางพฤติกรรม และพัฒนาการ เพื่อเป็นเเนวทางให้เราได้เข้าใจบุคคลเหล่านี้มากขึ้น และจะได้เข้าใจว่าเขาก็มีคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันกับเรา เราเองก็ควรให้เกียรติ และรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย เสมือเหมือนเขาก็คือเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ที่ยืนอยู่ในสังคมนี้เฉกเช่นเรา ผู้เขียนขออนุญาติที่จะไม่ วินิจฉัย (diagnose) หรือขออนุญาติ ที่จะไม่กล่าวถึงบุคคลที่สามแต่ประการใด
แต่ขออธิบายในเชิงการให้ความรู้ และอธิบายเกี่ยวกับโรคดังกล่าว เท่านั้น หากจะกล่าวถึง แอสเพอร์เกอร์ (Asperger's Disorder) หลายคนคงยังไม่คุ้นชินกับคำนี้ซักเท่าไหร่ หากเทียบกับ ออทิสซึม หรือ ออทิสติก (Autistic Disorder) แท้จริงแล้วแอสเพอร์เกอร์ถูกจัดรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกับออทิสติก หรือกลุ่มโรคที่มีความผิดปกติของพัฒนาการแบบรอบด้าน (Pervasive Developmental Disorder -PDDs) :ซึ่งตามเกณฑ์วินิฉัยของ DSM-TV-TR กล่าวไว้ว่าประกอบไปด้วยโรคต่างๆดังต่อไปนี้
- Autistic Disorder (Autism)
- Rett's Disorder
- Childhood Disintegrative Disorder
- Asperger's Disorder
- Pervasive Development Disorser not otherwise specified
ในที่นี้ผู้เขียนขอกล่าวถึง Asperger's Disorder
แอสเพอร์เกอร์ ถูกรายงานเมื่อ ค.ศ. 1940 โดยนายแพทย์ ฮานส์ แอสเพอร์เกอร์ (Hans Asperger) กุมารแพทย์ชาวออสเตรีย ที่พบว่าคนไข้ของเขาซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชายมีความเฉลียวฉลาด มีระดับสติปัญญาอยุ่ในเกณฑ์ปกติ แต่กลับมีปัญหาในเรื่องของการเข้าสังคม มีพฤติกรรมหมกหมุ่น ชอบทำอะไรซ้ำซาก จำเจ ทักษะในการเข้าสังคมไม่ค่อยดีนัก แต่สามารถสนทนาสื่อสารกับผู้อื่นได้
ในปี พ.ศ. 2548 สถาบันวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวว่า ไอน์สไตน์ และ เซอร์ไฮเซค นิวตัน 2 นักวิทยาศาสตร์ผู้โด่งดัง อาจเข้าข่ายในกลุ่มอาการดังกล่าวด้วยเช่นกัน เพราะไม่ชอบการเข้าสังคม การปฏิสัมพันธืกับผู้อื่นค่อนข้างต่ำ อีกทั้งพูดกับคนอื่นไม่ค่อยรู้เรื่อง
ปัจจุบันในเชิงระบาดวิทยา พบผู้ป่วยแอสเพอร์เกอร์ ร่วมกับ PDDs ในอัตรา 1:1000 นับได้ว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น
ในด้านสาเหตุของการเกิดโรคนั้น ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ในทางการแพทย์มึผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า น่าจะเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ทั้งในด้านการทำงานที่ผิดปกติของสมองและระบบประสาท รวมทั้งพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม มีผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า น่าจะเกิดจากความบกพร่องของสารพันธุกรรม ซึ่งความบกพร่องทางพันธุกรรมนี้ก็ยังบอกไม่ได้อีกเหมือนกันว่า เกิดจากการถ่ายทอดจากรุ่นสู่ร่น ที่ค่อยๆสะสมความผิดปกติแล้วจึงมาแสดงในรุ่นใดรุ่นหนึ่ง หรือเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีน แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่อาจยืนยันผลได้แน่ชัด ต้องใช้การศึกษาวิจัยอีกระยะหนึ่ง แต่ค่อนข้างให้น้ำหนักไปว่า ไม่น่าจะเกิดจากการเลี้ยงดู
ทั้งนี้จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ระบุว่า เด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ จะเริ่มแสดงอาการออกมาให้เห็นตั้งแต่ อายุ 3 ขวบ และจะสามารถสังเกตให้เห็นได้เด่นชัดในช่วงวัย ระหว่างอายุ 5-9 ปี โรคนี้จะไม่แสดงออกทางรูปร่างหน้าตา แต่จะแสดงออกมาในรูปของพฤติกรรมที่มีความบกพร่อง 3 ด้าน คือ
1. ด้านภาษา
- เด็กจะสามารถใช้ภาษาสื่อสารกับคนปกติได้เฉกเช่นเด็กปกติ แต่จะมีปัญหาบางในเรื่องที่เข้าใจในเรื่องที่พูด โดยเฉพาะคำพูดในเชิงเปรียบเปรย กำกวม มุขตลก คำประชดประชัน เสียดสี เด็กจะไม่ค่อยรู้สึกยินดียินร้ายกำคำเหล่านั้น เพราะเขาอาจไม่เข้าใจ ก็เป็นได้
- จะชอบพูกเรื่องตัวเอง มากกว่าการพูดเรื่องผู้อื่น พูดในเรื่องนั้น ซ้ำๆ บ่อยๆ และใช้คำพูดที่ค่อนช้างเหมือนเดิม
- ไม่รู้จักการทักทาย จะพูดอะไรค่อนข้างโพล่งผาง พูดโดยไม่มีการเกริ่นนำ ไม่มีที่มาที่ไป
- มักมีปัญหาในทักษะด้านการเขียน การอ่าน และ ทักษะทางคณิศาสตร์
2. ด้านสังคม
- ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ชอบแยกตัวอยู่คนเดียว ไม่สนใจคนรอบข้าง
- เข้ากับผู้อื่นไม่ค่อยได้
- มีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับคนอื่นอย่างไม่เหมาะสมกับวัย ไม่รู้จักกาละเทศะ มารยาททางสังคมน้อย
- เมื่อพูดกับผู้อื่นจะไม่ค่อยสบตา ไม่มองหน้า
- ไม่แสดงออกถึงความรู้สึกอยากร่วมสนุก ไม่ยินดียินร้ายกับการเข้าร่วมงานกับผู้อื่น
- ไม่มีอารมณ์ หรือการตอบสนองเชิงสัมพันธภาพกับผู้อื่น
- ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เฉยชา และบางรายอาจมีพฤติกรรมสุดโต่ง หรือบางรายอาจมีความอ่อนไหวง่าย
3. ด้านพฤติกรรม
- ชอบทำอะไรซ้ำๆ หมกมุ่น สนใจเฉพาะเรื่องที่ตนสนใจ โดยเฉพาะเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน อย่างเข่น แผนที่โลก วงจรไฟฟ้า ยี่ห้อรถ ไดโนเสาร์ ธงชาติประทศต่างๆ ดนตรีคลาสิก เป็นต้น ซึ่งถ้าเขาสนใจในเรื่องนั้นแล้ว จะสนใจอย่างเอาจริงเอาจัง และค่อนข้างรู้ลึกรู้จริง
- เปลี่ยนแปลงความสนใจได้ง่าย ในบางรายมีความไวต่อสิ่งเร้าภายนอกค่อนข้างสูง สมาธิสั้น
- ท่วงท่าในการเดิน งุ่มง่าม ไม่คล่องตัว
- อาจมีการพูดหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ท่านข้าวร้านนี้แล้วไม่อร่อย เมือเด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ดังกล่าวเดินผ่านร้านนี้ ก็จะพูดออกมาโดยไม่สนใจ พูดออกมาตรงๆ ไม่อ้อมค้อม ว่า "ข้าวร้านนี้ไม่อร่อย" เป็นต้น
อย่างไรก็ดี เด็กที่มีภาวะของแอสเพอร์เกอร์ จะมีระดับสติปัญญาดี มีความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองในเรื่องชีวิตประจำวันได้ในระดับที่น่าพอใจ เพียงแต่บางรายอาจมีสมาธิสั้น แต่โดยรวมในเรื่องสติปัญญาปกติ และค่อนข้างดีกว่าปกติในบางรายด้วยซ้ำ
ส่วนความแตกต่างระหว่างแอสเพอร์เกอร์ และ ออทิสติก
แม้ว่าแอสเพอร์เกอร์ และออทิสติกจะเป็นโรคที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันแต่ก็มีข้อเหมือน และแตกต่างที่พอจะสรุปให้เห็นได้ดังนี้
จากข้อแตกต่างข้างต้นดังตาราง กล่าวได้ว่า ในด้านภาษาเด็ก 2 กลุ่มจะมีความเเตกต่างกัน ในเรื่องการสื่อสาร แอสเพอร์เกอร์สามารถสื่อสารได้ค่อนข้างดีกว่าเด็กออทิสติก อีกทั้งในเรื่องเรื่องของสติปัญญาเด็กแอสเพอร์เกอร์จะมีสติปัญญาในเกณฑ์ปกติ หรือดีกว่าด้วยซ้ำหากเทียบกับออทิสติกที่อาจระดับสติปัญญาต่ำกว่า
การประเมิน และคัดกรองโรค
แม้จะกล่าวได้ว่าแอสเพอร์เกอร์เป็นโรคที่เป็นมาแต่กำเนิดก็ตาม แต่ในช่วงเด็กเล็กจะค่อนข้างที่จะประเมินได้ยาก อีกทั้งเป็นเรื่องยากที่พ่อแม่จะสังเกตเห็นความแตกต่างหากถ้าไม่คุ้นชิน หรือพบข้อแตกต่างที่ชัดเจน เพราะในช่วงเด็กเล็กๆ ก็ไม่มีสิ่งบ่งชี้ใดๆ เพราะแลเหมือนว่าเด็กปกติทั่วไป อาจมีเพียงข้อสงสัยบางประการที่อาจสังเกตได้เช่น เด็กไม่ค่อยอยากให้อุ้ม เด็กไม่ค่อยตอบสนอง ไม่ชอบสบตา ไม่ยิ้ม หรือแสดงทีท่าดีใจเวลามีคนมาเล่นด้วย บางครั้งพ่อแม่อาจคิดว่าเป็นเรื่องปกติของเด็กบางคนที่อาจมีความแตกต่างจากเด็กอื่นในวัยเดียวกัน เว้นแต่จะเห็นความแตกต่าง หรือมองเห็นปัญหาอย่างชัดเจน และตั้งข้อสงสัยในความผิดปกตินั้นๆ จึงพามาพบแพทย์
แท้จริงแล้วเมื่อพ่อแม่พบเห็นความผิดปกติในด้านพฤติกรรม หรือมีข้อสงสัยในความผิดปกติของพัฒนาการ การนำเด็กมาขอคำปรึกษาจากแพทย์นั้น น่าจะเป็นท่าออกที่ดี เพราะแท้จริงแล้วเราสามารถพอจะคัดกรอง (screening) หรือ ให้การวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเเรกเริ่ม (early identification) ตั้งแต่ที่เราเริ่มสงสัยได้
โดยเเพทย์จะใช้วิธีการในการพิจารณาประวัติในทุกด้าน ตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ และสังเกตพฤติกกรรมบางอย่างประกอบกัน เพื่อพิจารณาว่าเข้าเกณฑ์ของแอสเพอร์เกอร์หรือไม่ประการใด เพราะหากใช่ก็จะได้รับการช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด พ่อแม่หลายคนกลัวการจะต้องรับรู้ว่าลูกเป็นอะไร จึงทำให้สูญเสียโอกาสในการให้การช่วยเหลือ
ในกระบวนการประเมินเบื้องต้นนั้น เเพทย์อาจใช้วิธีการตรวจเพิ่มเติม โดยอาจไปรวมไปถึงการประเมินร่วมกับทีมสหวิชาชีพ อาทิ นักจิตวิทยาพัฒนาการ นักกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยาคลินิก หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยหากพบความผิดปกติก็อาจประเมินให้เข้ารับการช่วยเหลือ ในด้านการฝึกสมาธิ การฝึกทักษะทางสังคม ฝึกการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหย่ จากนักกิจกรรมบำบัด หรือการปรับพฤติกรรม หรือรับการกระตุ้นพัฒนาการ จากนักจิตวิทยา เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเด็ก
หลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคแอสเพอร์เกอร์
ในการวินิจฉัยโรแอสเพอร์เกอร์จะอาศัยลักษณะทางคลินิกเป็นหลัก โดยใช้หลักเกณฑ์การตรวจวินิจฉัยตามเกณฑ์ของสมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (The Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorder,4th edition, DSM-IV 1994) โดยมีหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคแอสเพอร์เกอร์ ไว้ดังนี้
A. มีคุณลักษณะในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ผิดปกติ โดยแสดงออกอย่างน้อย 2 ข้อต่อไปนี้
1. บกพร่องอย่างชัดเจนในการใช้ท่าทางหลายอย่าง (เช่น การสบตา การแสดงสีหน้า กิริยา หรือท่าทางประกอบการเข้าสังคม)
2. ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนในระดับที่เหมาะสมกับอายุได้
3. ไม่แสดงความอยากเข้าร่วมสนุก ร่วมทำสิ่งที่สนใจ หรือร่วมงานให้เกิดความสำเร็จกับคนอื่น ๆ (เช่น ไม่แสดงออก ไม่เสนอความเห็น หรือไม่ชี้ว่าตนสนใจอะไร)
4. ไม่มีอารมณ์ หรือสัมพันธภาพตอบสนองกับสังคม
B. มีพฤติกรรม ความสนใจ หรือกิจกรรมที่จำกัด ซ้ำ ๆ เป็นแบบแผน โดยแสดงออกอย่างน้อย 1 ข้อ ต่อไปนี้
1. หมกมุ่นกับพฤติกรรมซ้ำ ๆ (Stereotyped) ตั้งแต่ 1 อย่างขึ้นไป และความสนใจในสิ่งต่าง ๆ มีจำกัด ซึ่งเป็นภาวะที่ผิดปกติทั้งในแง่ของความรุนแรงหรือสิ่งที่สนใจ
2. ติดกับกิจวัตร หรือย้ำทำกับบางสิ่งบางอย่างที่ไม่มีประโยชน์โดยไม่ยืดหยุ่น
3. ทำกิริยาซ้ำ ๆ (Mannerism) (เช่น เล่นสะบัดมือ หมุน โยกตัว)
4. สนใจหมกมุ่นกับเพียงบางส่วนของวัตถุ
C. ความผิดปกตินี้ก่อให้กิจกรรมด้านสังคม การงาน หรือด้านอื่น ๆ ที่สำคัญ บกพร่องอย่างมีความสำคัญทางการแพทย์
D. ไม่พบพัฒนาการทางภาษาที่ล่าช้า อย่างมีความสำคัญทางการแพทย์
E. ไม่พบพัฒนาการทางความคิดที่ช้าอย่างมีความสำคัญทางการแพทย์ หรือมีความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง พฤติกรรมการปรับตัว และมีความอยากรู้เห็นในสิ่งรอบตัวในช่วงวัยเด็ก
F. ความผิดปกติไม่เข้ากับ พีดีดี ความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้านชนิดเฉพาะอื่น หรือโรคจิตเภท (Schizophrenia)
สำหรับวันนี้ผู้เขียนคงต้องขอนำเสนอเรื่องแอสเพอร์เกอร์ไว้เพียง เท่านี้ และในคราวหน้าผู้เขียน จะนำเสนอในเรื่องของการให้ความช่วยเหลือ และวิธีการดูแลเด็กที่มีอาการของแอสเพอร์เกอร์ อย่างไรหวังว่า ทุกท่านคง เข้าใจเรื่องราวของแอสเพอร์เกอร์มากขึ้น และ คงรู้ว่าแอสเพอร์เกอร์แตกต่างกับออทิสติกอย่างไร ผู้เขียนเอง หวังว่าเมื่อเราเข้าใจถึงคนเหล่านี้เเล้ว เราจะให้โอกาส และให้ความรู้สึกที่ดีกับเขาเหล่านั้น ไม่แบ่งแยก และไม่มีอคติกับคนเหล่านั้น และควรให้โอกาสพวกเขาได้เรียนรู้ทักษะต่างๆทางสังคม ให้โอกาส มีความรู้สึกที่ดีกับพวกเขา เพราะพวกเขาก็มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่แตกต่างจากเรา และเราก็ควรมีส่วนในการทำความเข้าใจ และให้ที่ยืนแก่พวกเขาด้วย เช่นกัน
แล้วไว้พบกันในตอนต่อไป ขอขอบคุณครับ